“Gig” (อ่านว่า กิ๊ก) เป็นศัพท์แสลง ในอดีตใช้กล่าวถึงการแสดงของนักดนตรีหรือวงดนตรีแจ๊ส
ต่อมาคำว่า Gig ถูกใช้ไปในความหมายที่สื่อถึงงานชั่วคราว งานที่รับจ้างเป็นระยะเวลาสั้นๆ และจบเป็นครั้งๆ ไป ไม่ยึดติดกับที่ใดที่หนึ่ง เช่น งานฟรีแลนซ์ พาร์ตไทม์ เอาต์ซอร์ส ไปจนถึงคนที่รับจ้างผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์
จุดเด่นของงานรูปแบบนี้ คือ การมีอิสระ ไม่ว่าจะเป็นการเลือกรับงานหรือเวลาทำงาน โดยค่าตอบแทนขึ้นอยู่กับจำนวนงานและความยากง่ายของงานที่ทำ
ในยุคดิจิทัล การเติบโตของโลกออนไลน์ และแนวคิดเศรษฐกิจแบ่งปัน (Sharing Economy) หรือการร่วมมือกันทำธุรกิจโดยอาศัยเทคโนโลยีเป็นตัวกลาง ทำให้ Gig Economy ยิ่งเฟื่องฟู โดยเฉพาะที่คุ้นหูกันดีอย่าง Grab, Uber, Airbnb, Hubba, Line และ Joox
ด้วยค่านิยมของคนยุคใหม่ที่รักความเป็นอิสระ ยิ่งทำให้ Gig worker หรือคนที่รับงานรูปแบบ Gig เพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ จนกลายเป็นที่พูดถึงในวงกว้างว่างานรูปแบบนี้อาจเข้ามาแทนที่งาน In-house หรืองานเต็มเวลาในไม่ช้า
Mckinsey Global สถาบันที่ปรึกษาชั้นนำ ประเมินว่าในสหรัฐฯ และประเทศแถบยุโรปมีจำนวนคนทำงานในลักษณะครั้งคราวรวมกันอยู่ 162 ล้านคน หรือราว 1 ใน 4 ของประชากรวัยทำงาน
ส่วนประเทศไทยแม้จะยังไม่มีการเก็บตัวเลขอย่างเป็นทางการ แต่ผลสำรวจของ EIC จากผู้ตอบแบบสอบถาม 9,387 คน ประมาณการได้ว่าประชากรชาว Gig มีอยู่ประมาณ 30% ของคนวัยทำงาน หมายความว่าในคนจำนวน 10 คน จะมีคนที่เป็น Gig worker อยู่ 3 คน
อาชีพยอดนิยมของเหล่า Gig worker ชาวไทยคือ รับจ้างทั่วไป ธุรกิจส่วนตัว ขายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ และลงทุนในหุ้นหรือสินทรัพย์อื่นๆ
โดยรับจ้างทั่วไป ยังรวมไปถึงอาชีพที่น่าสนใจ อย่าง รับจ้างจองโต๊ะ กดบัตรคอนเสิร์ต ต่อคิวต่อแถวซื้อสินค้า เพื่อนเที่ยว หรือแม้กระทั่งชุมนุมประท้วง
ด้วยรูปแบบการทำงานของ Gig worker ที่โดยหลักแล้วถูกจัดอยู่ในประเภทของแรงงานนอกระบบ
ส่งผลให้เกิดความท้าทายในแง่ของการให้ความคุ้มครองทางด้านสวัสดิการของแรงงานตามกฎหมาย ที่นำไปสู่ปัญหาการดูแลสิทธิ์ของแรงงานที่ไม่ครอบคลุม และไม่ใช่แค่รัฐที่ไม่สามารถกำกับดูแลสิทธิ์ของ Gig worker ได้เท่านั้น แต่ตัวคนทำงานเองก็ไม่ทราบด้วยเหมือนกันว่าตนมีสิทธิ์อะไรบ้าง
จึงเกิดเป็นโจทย์ที่ว่า รัฐจะออกแบบระบบเพื่อรองรับการทำงานของอาชีพที่มีอยู่เดิม รวมถึงอาชีพใหม่ๆ นี้ได้อย่างไร เนื่องจากงานที่สอดรับกับรูปแบบการดำเนินชีวิตที่ชื่นชอบความเป็นอิสระดูเหมือนจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะงานบนแพลตฟอร์มออนไลน์ ซึ่งปัจจุบันได้กลายเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยไปแล้ว
แล้วคุณล่ะเป็น Gig อยู่หรือเปล่า? เจอปัญหาอะไรบ้างมาแชร์กัน