เคยสงสัยไหม…? ว่าตัวเองเรียนเก่งแค่ไหนเมื่อเทียบกับเพื่อน สวยขนาดไหนเมื่อเทียบกับเน็ตไอดอล
ถ้าคุณเป็นคนหนึ่งที่เคยคิดว่าตัวฉันดีเลิศกว่าใครในปฐพี เราคือเพื่อนกัน!
แท้จริงแล้ว คนเรานั้นไม่เก่งเรื่องประเมินตนเองอย่างตรงไปตรงมา และบ่อยครั้งก็เผลอคิดว่าตัวเองมีความสามารถเกินความเป็นจริง นักวิจัยเรียกอาการนี้ว่า “ปรากฏการณ์ดันนิง-ครูเกอร์” (Dunning–Kruger Effect) หรืออธิบายได้ง่ายๆ ว่ามันคืออาการ “ยิ่งไม่เก่ง ยิ่งมั่นใจ”
ปรากฏการณ์ดันนิง-ครูเกอร์นั้นสามารถเกิดขึ้นกับใครก็ได้ในสังคม และบางครั้ง… มันก็เกิดขึ้นกับตัวเราเอง
David Dunning และ Justin Kruger นักจิตวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยคอร์เนล เจ้าของทฤษฎีได้กล่าวถึงอาการนี้เป็นครั้งแรกในงานวิจัยของเขาที่ชื่อ “Unskilled And Unaware of” หรือ แปลเป็นภาษาไทยแสบๆ ว่า “ห่วยแตก แต่ยังไม่รู้ตัว”
Unskilled And Unaware of ถูกตีพิมพ์ในปี 1999 ซึ่งพวกเขาได้อธิบายว่า กลุ่มคนที่ขาดความรู้ และทักษะเฉพาะด้าน มีโอกาสที่จะหลงระเริงไปความความเก่งกาจที่ไม่มีอยู่จริงของตนเองมากกว่าคนทั่วไปถึง 2 เท่า
ผลวิจัยนี้ไม่ได้กล่าวขึ้นลอยๆ เพราะมีการสำรวจความคิดเห็นผู้ขับขี่ชาวอเมริกัน เกี่ยวกับความเชี่ยวชาญในการขับรถบนท้องถนน พบว่ามีผู้ขับขี่ถึง 88% ที่คิดว่าตนเองขับรถเก่งกว่าคนอื่นๆ
นอกจากนี้ยังมีการสำรวจความคิดเห็นของวิศวกรซอฟแวร์บริษัทหนึ่ง ปรากฎว่ามีวิศวะกรเพียง 5% ที่ประเมินว่าตนเองอยู่ในกลุ่มผลงานดีเด่น
จากผลการทดสอบที่แตกต่างกันในสองกรณีนี้ ทำให้เห็นว่า กลุ่มคนที่มีความสามารถต่ำ มักจะประเมินว่าตนเองมีความสามารถสูงเกินจริงไปมาก เพราะพวกเขาขาดทักษะจนไม่สามารถตระหนักได้ว่าตนเองขาดประสิทธิภาพขนาดไหน
ดังนั้น ไม่ว่าใครคนนั้นจะมีความสามารถแย่แค่ไหนก็ตาม เขาก็มักจะคิดว่าตัวเองเก่งกว่าคนส่วนใหญ่อยู่ดี เหมือนที่เราเคยได้ยินคนพูดว่า “อย่างน้อยฉันก็ไม่แย่ที่สุดหรอกน่า!”
ในขณะที่กลุ่มคนที่มีทักษะมากพอ จะตระหนักได้ว่าความรู้นั้นไม่มีที่สิ้นสุด จึงไม่ประเมินว่าตนเองเป็นผู้เชี่ยวชาญในด้านใดๆ เป็นพิเศษ แต่จะคิดว่าตนเองเก่งเท่ากับคนอื่นๆ หรืออาจจะน้อยกว่าคนอื่นด้วยซ้ำ
แม้ว่า การประเมินตนเองต่ำกว่าความจริงของเหล่าคนเก่ง จะเป็นแรงผลักดันให้พวกเขาหมั่นพัฒนาตนเองอยู่เสมอ แต่กลุ่มคนอัจฉริยะก็มักจะต้องเผชิญกับความเครียดจาก “Imposter Syndrome” หรือโรคกลัวไม่เก่ง จนทำให้ต้องรับแรงกดดันจากตัวเองตลอดเวลา
สรุปแล้ว ไม่ว่าจะเป็นคนไม่เอาไหน หรือคนเก่ง ก็มักจะตกหลุมพรางความเชื่อผิดๆ จากความคิดของตนเอง เพราะเมื่อไหร่ก็ตามที่มันเป็นเรื่องของ “ตัวเอง” เราก็มักจะคาดคะเนผิดพลาดไปทั้งหมดจนน่าแปลกใจ
ดังนั้น เพื่อความชัวร์… อย่าลืมหมั่นเช็คว่าตัวเราจัดอยู่ในกลุ่มคนประเภทไหนเพื่อที่จะได้แก้ไขปัญหาให้ตรงจุด!
อันดับแรก ลองถามคนอื่นๆ แล้วลองคิดทบทวนดู แม้ว่าสิ่งที่ได้ยินอาจไม่ใช่สิ่งที่น่าฟังก็ตาม จากนั้น จงอย่าหยุดที่จะเรียนรู้ เพราะยิ่งเรามีความรู้มากเท่าไหร่ เราก็จะเห็นจุดบกพร่องของตนได้ดีขึ้นเท่านั้น
คงจะเหมือนคำที่กล่าวว่า “ความรู้ที่แท้จริง คือ การรู้ว่าตัวเองไม่รู้”
Written by Charuwan Sudaduong
Illustration by Kannala Pooriruktananon
อ้างอิง: