จากกระแสละครนางวันทองที่มีการนำเรื่องราววรรณคดีไทยเรื่องขุนช้าง ขุนแผน มาถ่ายทอดใหม่ โดยยกบทบาทเรื่องราวของนางวันทองให้โดดเด่นขึ้นมา จนเกิดเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์บนสื่อโซเชียลว่าทำไมนางวันทองในวรรณคดีถึงต้องถูกตีตราว่าเป็นหญิงสองใจทั้งๆ ที่นางวันทองไม่ได้ทำผิดอะไรเลย
แต่มีประเด็นหนึ่งในละครที่เรามองว่า สิ่งนี้ล่ะ ที่เป็นจุดเริ่มต้นของเรื่องราวทั้งหมดและยังเป็นค่านิยมสังคมไทยที่ปลูกฝังพวกเรามาอย่างยาวนาน
นั่นคือ “การล้มเหลวในชีวิตคู่” แต่จริงๆ แล้วสิ่งนี้ไม่ได้ลดคุณค่าความเป็นคนลงเลย
ทว่าหากย้อนกลับไปเมื่อประมาณ 20-30 ปีก่อน ช่วงเวลาที่เปอร์เซ็นต์การหย่าร้างยังไม่เยอะเท่าในปัจจุบัน ประกอบกับเรื่องความเท่าเทียมทางเพศยังไม่เปิดกว้างเท่าทุกวันนี้
เวลามีคู่รักที่แต่งงานกันแล้วเกิดตัดสินใจแยกทางหรือสิ้นสุดชีวิตครอบครัวขึ้นมา (ถ้าจะยกตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดคือ ‘ดารา’) ก็จะถูกวิพากษ์วิจารณ์ในวงกว้าง ไม่ว่าจะเป็นคนที่รู้จัก เพื่อน ญาติ คนในหมู่บ้าน หรือแม้กระทั่งคนที่ไม่รู้จักเราเลยก็ตาม
ส่งผลให้สังคมสมัยก่อนมองว่าคนที่ไม่ประสบความสำเร็จในชีวิตคู่ จะเป็นคนที่มีจุดด้อยของชีวิตขึ้นมาทันที ผ่านการเรียกโดยใช้สรรพนามว่า พ่อหม้าย หรือ แม่หม้าย ตามมาด้วยคำถามว่าในใจว่าคนนี้มีข้อบกพร่องตรงไหน? ทำไมถึงต้องเลิกกับคู่ของตัวเอง?
เหมือนที่แม่ของนางวันทองไม่อยากให้ลูกตัวเองกลายเป็น ‘หม้ายหลวง’ เลยพยายามบังคับให้ลูกตัวเองแต่งงานกับขุนช้าง จนเกิดเป็นเรื่องราวใหญ่โตขึ้นมา
และสิ่งเหล่านี้เอง ที่นำพามาซึ่งความกลัวของคน กลัวว่าชีวิตตัวเองจะล้มเหลวในความรัก กลัวว่าคนอื่นจะมองเราไม่ดีถ้าชีวิตคู่ไปไม่รอด บางคนยอมอยู่กับคนที่ไม่ได้รักแล้ว หรือบางคนอาจจะทนอยู่กับคนที่เป็น Toxic ในความสัมพันธ์ เพียงเพราะกลัวว่าสังคมจะตราหน้าเราแค่นั้นเอง
ทั้งๆ ที่เรื่องการหย่าร้างเป็นเรื่องธรรมดา เพราะขี้นชื่อว่ามนุษย์ ก็มักไม่มีอะไรที่แน่นอนเสมอไป ทุกสิ่งทุกอย่างล้วนเกิดขึ้นได้ การเลิกราเป็นเรื่องของคนสองคนที่คนอื่นไม่จำเป็นต้องทำความเข้าใจ
และที่สำคัญคือ การล้มเหลวในชีวิตคู่นั้นไม่ได้ลดทอนคุณค่าของชีวิตคนลงเลย ถ้าใครเคยดูซีรีส์เรื่อง ‘Wake Up ชะนี The Series’ ตอนที่เจนเลิกกับแฟนที่คบกันมาหลายปี และเพื่อนก็ปลอบใจเจน โดยให้เจนพูดข้อดีของตัวเองมา เจนทั้งเรียนเก่ง ชีวิตหน้าที่การงานดีทุกอย่าง แต่แค่เพียงสะดุดก้อนหินล้มจากเรื่องความรักแค่นั้นเอง อย่าพาตัวเองลงหลุมและทำลายคุณค่าในชีวิตด้านอื่นๆ ไปด้วย
ชีวิตคู่เป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งของชีวิตคนเท่านั้น ไม่ควรถูกใครหรือคนสังคมมาให้ค่าและนิยามมันว่าเป็นความสำเร็จหรือล้มเหลว เพราะชีวิตเราเป็นของเรา คุณค่าอยู่ตรงไหน อยู่ที่เรานิยามมันเอง ซึ่งนางวันทองจะไม่มีจุดจบเช่นนั้นเลย หากสังคมสมัยไม่กำหนดและตีตราคุณค่าของคนเพียงแค่เรื่องเดียว