หัวเราะวันละนิดจิตแจ่มใส หลายคนน่าจะได้ยินประโยคนี้อยู่บ่อยๆ การมีอารมณ์ขันนั้นส่งผลทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิต ‘ซีคมุนท์ ฟร็อยท์’ (Sigmund Freud) บิดาแห่งจิตวิเคราะห์ กล่าวในหนังสือ ‘Jokes and Their Relation to the Unconscious’ ว่า “อารมณ์ขันคือ กลไกการปกป้องจิตใจที่ดีที่สุด” อีกทั้งนักวิทยาศาสตร์ยังได้ศึกษาและพบว่า อารมณ์ขันที่ดีนั้น สามารถช่วยป้องกันอาการวิตกกังวลและซึมเศร้าได้
แต่ไม่ใช่ทุกอารมณ์ขันนั้นจะส่งผลดีต่อสุขภาพทุกคน บางอารมณ์ขันอาจดีต่อคนหนึ่ง แต่ส่งผลเสียต่ออีกคนหนึ่ง ในปี 2003 ‘Rod Martin’ นักจิตวิทยาและคณะ ได้ทำแบบสอบถามประเภทของอารมณ์ขัน เพื่ออธิบายว่าผู้คนใช้อารมณ์ขันเผชิญเหตุการณ์ต่างๆ ในชีวิตประจำวันอย่างไร โดยอารมณ์ขันที่สำรวจนั้นแบ่งออกเป็น 4 ประเภท ดังนี้
1. อารมณ์ขันแบบเป็นกันเอง (Affiliate Humor)
คนที่มีอารมณ์ขันนี้มักมีความสามารถทำให้ผู้คนรอบๆ ตัวหัวเราะ ปลดปล่อย และผ่อนคลายบรรยากาศด้วยเรื่องต่างๆ ที่สามารถทำให้ตลกได้ คนกลุ่มนี้ถือว่าสามารถปรับตัวให้เข้ากับสังคมรอบข้างได้เป็นอย่างดี
2. อารมณ์ขันแบบส่งเสริมตนเอง (Self-Enhancing Humor)
คนมีอารมณ์ขันนี้มักหัวเราะให้กับการกระทำบางอย่างของตน หรือพูดเรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตให้เป็นเรื่องตลก โดยมองตามหลักความเป็นจริง ถือเป็นกลไกการปกป้องตัวเองรูปแบบหนึ่ง เพราะการมองโลกในแง่ดีนั้นช่วยให้หลีกเลี่ยงอารมณ์ทางลบ ทำให้สุขภาพจิตดีขึ้น
3. อารมณ์ขันแบบก้าวร้าว (Aggressive Humor)
อารมณ์ขันประเภทนี้คือการหัวเราะ เยาะเย้ย ถากถางคนรอบตัว โดยไม่ได้สนใจว่าอีกฝ่ายจะรู้สึกอย่างไร ถือเป็นการระบายอารมณ์ให้ตัวเองมีสุขภาพจิตที่ดีขึ้น แต่อาจส่งผลให้คนอื่นที่โดนระบายอารมณ์ใส่มีสุขภาพจิตแย่ลง
4. อารมณ์ขันแบบล้อเลียนตัวเอง (Self-Defeating Humor)
อารมณ์ขันนี้คือ การสบประมาทตัวเอง หรือพยายามให้ผู้อื่นเสียดสี เยาะเย้ยตนเอง และหัวเราะร่วมไปกับพวกเขาเพื่อหลีกเลี่ยงการเผชิญปัญหาและซ่อนอารมณ์ทางลบของตน มักพบในคนที่รู้สึกว่าคุณค่าในตัวเองต่ำ
คนเราไม่ได้มีอารมณ์ขันเพียงรูปแบบเดียว แต่บางคนอาจจะแสดงออกในทางใดทางหนึ่งมากกว่าปกติ และทุกรูปแบบมีข้อดี ข้อเสีย และส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตแตกต่างกัน
‘Julie Aitken Schermer’ นักวิจัยทางจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัย Western Ontario กล่าวว่า คนที่มีความสุขกับการคิดในเชิงบวกและทำให้ตัวเองรู้สึกดี หรือคนที่มีอารมณ์ขันแบบส่งเสริมตนเอง จะส่งผลดีต่อสุขภาพจิต ลดโอกาสเกิดซึมเศร้า และเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีต่อคนรอบข้าง
การที่เราจะหัวเราะตัวเอง หรือหัวเราะให้กับเรื่องต่างๆ ในชีวิตบ้างนั้นไม่ใช่เรื่องผิดอะไร ถ้าหากมันทำให้เรามีความสุขและไม่คิดถึงเรื่องทุกข์ใจ อย่างที่ Kurt Vonegut นักเขียนชาวอเมริกันเคยกล่าวไว้
“เสียงหัวเราะและคราบน้ำตานั้นตอบรับกับความขุ่นข้องใจและความเหนื่อยล้า ผมชอบที่จะหัวเราะ อย่างน้อยเมื่อเสร็จแล้วผมก็ไม่ต้องเก็บกวาดอะไรมาก”
“Laughter and tears are both responses to frustration and exhaustion. I myself prefer to laugh, since there is less cleaning up to do afterward.”
แปลและเรียบเรียงจาก: