คุณสามารถ “รักในงานที่ทำ” ได้หรือไม่? หรือต้องหาแค่ “งานที่รัก” เท่านั้น

2504
คำกล่าวที่ว่า “ถ้าคุณทำงานที่รัก จะรู้สึกเหมือนไม่ต้องทำงานไปทั้งชีวิต” อาจไม่เป็นจริงเสมอไป
 
เพราะบ่อยครั้งคุณก็ยังตอบตัวเองไม่ได้ว่าอะไรคือ “งานที่รัก” หรือ “งานที่อยากทำ” กันแน่? แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่ามันใช่… รู้ได้อย่างไรว่าทำไปแล้วจะรักมันจริงๆ? ซึ่งเราคงไม่มีเวลามากพอจะไปค้นหาอาชีพที่หลงใหลหรืออยากจะอยู่กับมันไปทั้งชีวิตใช่ไหม?
 
ในทางกลับกัน ต่อให้มันเป็นอาชีพที่คุณใฝ่ฝันมาตั้งแต่เด็ก ก็ไม่มีสิ่งใดการันตีได้ว่า จะไม่ถอดใจกลางคัน เพราะอาจมีปัจจัยอื่นที่สำคัญไม่แพ้กัน อย่าง “เงิน” จนทำให้งานนั้นเหมาะจะเป็น “งานอดิเรก” มากกว่า “งานที่เป็นแหล่งรายได้หลัก” ของคุณก็ได้
 
จากบทความ You Can Love What You Do for a Living, But Still Think it Feels Like Work ของ Kat Boogaard ได้นำเสนอข้อเท็จจริง 4 ประการที่จะมาสนับสนุนแนวคิดข้างต้น คือ
 
1. งานไม่ใช่เรื่องเล่น
การบอกตัวเองว่า ฉันรักในสิ่งที่ทำจริงๆ และฉันโชคดีที่สามารถหาเลี้ยงชีพได้ ก็ไม่ได้หมายความว่าคุณจะต้องเพลิดเพลินไปกับการทำงานนั้นตลอดเวลา
 
แม้เราทุกคนรู้ดีว่าการทำงานกับการเล่นจะแตกต่างกันชัดเจน แต่การทำงานยังไงก็ต้องใช้ความพยายาม ซึ่งเป็นความพยายามเพื่อปากท้อง เพื่อความสุขเท่าที่เงินจะบันดาลได้ ในขณะที่การเล่นเป็นเรื่องของความสนุกสนานและความเพลิดเพลิน
 
หากคุณโชคดีสามารถรวมความสุขและความเพลิดเพลินไว้ในกิจวัตรประจำวันของคุณได้ ก็ไม่ได้หมายความว่าอาชีพที่คุณเลือกจะเป็นเหมือนการเดินเล่นในสวนสาธารณะ
 
2. ความหลงใหลอันดับหนึ่งของคุณไม่ใช่อาชีพในโลกความจริงเสมอไป
บางทีคุณอาจเป็นนักไวโอลินหรือนักเล่นวิดีโอเกมที่โดดเด่น อย่างไรก็ตามเราทุกคนตระหนักดีว่าสิ่งเหล่านี้เป็นสาขาอาชีพพิเศษและเฉพาะทาง ถ้าไม่สามารถผลักดันตัวเองจนมีชื่อเสียงได้ การมีแค่ความรัก ความหลงใหลก็คงอยู่ได้ยากในโลกของความเป็นจริง
 
แม้เราควรรู้จักสนับสนุนความปรารถนา ความสนใจ และความใฝ่ฝันอันยิ่งใหญ่ของตัวเอง แต่การค้นหาสิ่งที่คุณรักมันก็เป็นเพียงเสี้ยวหนึ่งของสมการชีวิต สิ่งสำคัญ คุณต้องสามารถทำมาหากินได้ ความกดดันในชีวิตจริงทำให้เราต้องแสวงหาลู่ทางที่จะช่วยให้เรามีมาตรฐานการครองชีพที่เหมาะสมและสะดวกสบายขึ้น
 
3. ไม่มีงานใดสมบูรณ์แบบที่สุด
มีคนจำนวนมากเลือกเข้าทำงาน หรือออกจากงาน ด้วยเหตุผลคือต้องการความสมบูรณ์แบบในชีวิต แต่อย่าลืมว่า เกือบทุกตำแหน่งงานมาพร้อมกับแรงกดดัน ความคาดหวัง และความรับผิดชอบที่มากขึ้น คุณอาจชื่นชอบสิ่งที่คุณทำส่วนใหญ่ แต่ก็จะมีบางสิ่งที่คุณรู้สึกไม่ชอบที่จะต้องทำเช่นกัน
 
บางทีคุณอาจเกลียดการตรวจสอบใบแจ้งหนี้ เกลียดการประชุมคณะกรรมการประจำไตรมาส หรือทนไม่ได้ในการกรอกรายงานค่าใช้จ่ายสำนักงานด้วยมือ ไม่ว่าจะเป็นอะไรก็ตาม มีแง่มุมบางอย่างในแต่ละวันของคุณที่ทำให้คุณพูดว่า “ฮึ” อย่างไม่ต้องสงสัย
 
เราเชื่อว่าไม่ใช่แค่คุณคนเดียวที่รู้สึกเช่นนี้ แม้แต่เหล่า Extrovert ที่ชอบเข้าสังคม ก็ไม่ได้แปลว่าจะพอใจในการพูดคุยกับทุกคน พอใจกับการถูกโยนงานลูกค้าที่จุกจิกจู้จี้มาให้
 
4. ยิ่งคุณรักงานมากเท่าไร ก็จะยิ่งทำงานหนักขึ้น
การที่คุณรักงานของตัวเองเป็นสิ่งที่ยอดเยี่ยม เพราะนั่นแปลว่า คุณหาข้อดีของสิ่งที่ทำได้ มันอาจเป็นเพียงความรู้สึกเติมเต็ม ความพอใจ หรือความสำเร็จในทุกครั้งที่เดินออกจากที่ทำงาน (เว้นแต่คุณใช้เวลาทำงานทั้งวันไปแบบคนเกียจคร้าน)
 
และบ่อยครั้งคุณจะรู้สึกได้ว่า งานที่ตัวเองรักก็ต้องอาศัยความพยายาม แลกมาด้วยการนอนดึก ซึ่งเป็นวงจรที่ไม่สิ้นสุด หรือสิ่งที่ทำให้เรารักงานนั้นจริงๆ อาจเป็นความพึงพอใจหรือรางวัลที่ได้รับหลังจากทำมันได้สำเร็จก็ได้
 
เพียงเพราะบางครั้งคุณรู้สึกเครียด วิตกกังวล หรือเหนื่อยแม้เพียงเล็กน้อย ไม่ได้หมายความว่าคุณอยู่ในสายงานที่ไม่ได้รัก
 
สุดท้าย งานที่ทำอาจไม่จำเป็นต้องเริ่มจาก “งานที่รัก” การที่คุณจะรักงานงานหนึ่ง สามารถเกิดขึ้นหลังจากเข้าไปทำงานนั้น ซึ่งเป็นงานที่คุณพอใจและรู้สึกว่าตัวเองทำได้ดีแล้วก็ได้ สิ่งสำคัญ คุณต้องพยายามมองหาข้อดีของงานที่คุณทำอยู่ (ต้องไม่ใช่การหลอกตัวเอง) และรู้จักให้คุณค่ากับงานไปพร้อมๆ กับการให้คุณค่าในตัวเอง มีเวลาให้ตัวเอง ให้คนรอบข้างหรือสมาชิกในครอบครัว
 
แปลและเรียบเรียงจาก: https://bit.ly/3agLQ82
 
Advertisements