แทบทุกคนอยากประสบความสำเร็จ หรือเป็นคนที่เพอร์เฟกต์ แต่การคิดมากเกินไปและกดดันตัวเองจนเกินเหตุนั้นไม่ได้เหมาะกับทุกคน เพราะความเครียดที่พุ่งสูงนั้นส่งผลเสียต่อต่อสุขภาพกายและจิตใจ และกระทบไปถึงการใช้ชีวิตอีกด้วย
แล้วจะทำอย่างไร? แน่นอนว่าเราต้องลดต้นเหตุของความเครียด หากต้นเหตุคือการคิดมากก็ต้องคิดให้น้อยลง ซึ่งไม่ได้แปลว่าห้ามสนใจเรื่องราวที่เกิดรอบตัว แต่ควรเลิกเสียเวลากับเรื่องไร้สาระ และใช้เวลากับเรื่องสำคัญให้พอเหมาะพอดี เพื่อที่เราจะได้ใช้ชีวิตให้มีความสุข
1. เพลาๆ บ้างกับความสมบูรณ์แบบ
ความสมบูรณ์แบบไม่ได้ดีสำหรับทุกเรื่อง บางครั้งมันคือกรอบที่จำกัดความคิดสร้างสรรค์ เพราะความสมบูรณ์แบบจะต้องมีรูปแบบเดียว การทำอะไรแตกต่างหรือนอกเหนือไปจากนั้นก็จะกลายเป็นไม่สมบูรณ์
ทว่าในความเป็นจริง ไม่ใช่ทุกเรื่องที่จะเป็นขาวและดำ หรือมีเพียงฝั่งถูกและผิด ทางออกของปัญหาหรือเหตุการณ์ต่างๆ ในชีวิตนั้นมีมากกว่าหนึ่ง แม้หลายครั้งจะไม่ใช่ทางที่ดีที่สุด แต่ก็สามารถเปิดประตูพาเราไปสู่โอกาสใหม่ๆ ที่อาจจะดีกว่าเดิมก็ได้
ดังนั้น อย่าทำร้ายตัวเพียงเพราะเราไม่สมบูรณ์แบบ แต่ให้รักในสิ่งที่ตัวเราเป็น และให้โอกาสกับทุกเส้นทางและความผิดพลาดในชีวิต
2. มองปัญหาให้เล็ก
สิ่งที่ต้องทำเมื่อเกิดปัญหาคือ ควบคุมสติและมองสิ่งที่เกิดขึ้นตามความเป็นจริงเพื่อจะได้ไม่วิตกเกินเหตุ และในบางครั้งก็ควรที่จะเลิกสนใจในเรื่องเล็กน้อยที่ไม่ส่งผลต่อชีวิต
แต่ถ้าไม่รู้ว่าเรื่องที่เกิดขึ้นสำคัญขนาดไหน? ให้ลองกางปัญหานั้นออกมาโดยมองว่า ปัญหานี้เกิดจากอะไร? ถ้าแก้ไขแล้วจะเกิดอะไรกับเรา? ถ้าไม่แก้ไขจะมีผลเสียอะไรหรือไม่? เราอาจจะพบว่าในหลายๆ ครั้งปัญหาที่เกิดขึ้นนั้นไม่มีผลอะไรแม้แต่น้อย แต่ที่เรารู้สึกว่ามันมีผลกระทบเป็นเพราะมองปัญหาใหญ่เกินความเป็นจริง
3. เชื่อในสัญชาตญาณ
สัญชาตญาณไม่ใช่จู่ๆ ก็ผุดขึ้นมาแบบไม่มีปี่ไม่มีขลุ่ย แต่เกิดจากสมองประมวลสถานการณ์ตรงหน้า พ่วงด้วยประสบการณ์ส่วนตัว แล้วเปลี่ยนไปเป็นความคิดในชั่วพริบตา
อย่ามองว่าสัญชาตญาณนั้นเชื่อถือไม่ได้หรือไร้สาระ เพียงเพราะผุดขึ้นมาเร็วกว่าความคิดทั่วไป เนื่องจากสัญชาตญาณนั้นมีความแม่นยำและความถูกต้องในระดับที่สูงพอสมควร หากเรานำมาเป็นส่วนประกอบในการตัดสินใจแล้วละก็ จะช่วยลดภาระของสมอง และลดระยะเวลาที่ต้องเสียไปกับการคิดมากจนเกินเหตุ เพื่อที่จะได้มีเวลาทำอย่างอื่นหรือพักผ่อนมากขึ้น
4. คิดให้เป็นเวลา
ในหนึ่งวันเราเสียเวลาไปเยอะมากกับการตัดสินใจเรื่องเล็กๆ น้อยๆ เช่น จะตอบอีเมลยังไง จะกินข้าวอะไรตอนไหน แค่คิดถึงเรื่องเหล่านี้ก็ใช้พลังงานแล้ว หากต้องคิดตลอดทั้งวันเราคงจะเหนื่อยจนแทบไม่มีแรงไปคิดกับเรื่องใหญ่ๆ กันพอดี
แทนที่จะต้องคิดถึงเรื่องเล็กน้อยเหล่านี้ตลอดทั้งวัน เราสามารถกำหนดตารางเวลาสำหรับเรื่องเล็กน้อยเพื่อพักสมองได้ อย่างกำหนดมื้ออาหารตลอดวันหลังตื่นนอนใน 15 นาที หรือกำหนดเวลาทำงานจิปาถะไว้เพียง 1 ชั่วโมงในช่วงบ่าย แล้วเราจะมีเวลาเหลือสำหรับดูแลตัวเองเพิ่มขึ้นอีกเยอะเลยทีเดียว
5. สร้างเงื่อนไขบังคับตนเอง
กฎของพาร์กินสัน (Parkinson’s Law) กล่าวไว้ว่า งานขยายตัวออกเท่ากับเวลาที่กำหนดไว้ เช่น หากเราให้เวลาตัวเอง 1 เดือนในการทำงานนำเสนอสักชิ้น เราก็จะใช้เวลาทั้งเดือนในการทำมัน แต่ถ้าเรากำหนดว่าจะทำให้เสร็จใน 1 สัปดาห์ เราก็จะทำงานนำเสนอโดยใช้เวลาเพียงแค่ 1 สัปดาห์
เห็นได้ว่างานชิ้นเดียวกันแต่ใช้เวลาไม่เท่ากัน นั่นเพราะหลายคนกลัวว่าหากใช้เวลาทำงานน้อยเกินไป งานจะออกมาไม่ดี หรือถ้าทำในระยะเวลาจำกัดอาจจะทำให้เครียดเกินไป จะเห็นได้ว่าความกังวลเป็นหนึ่งในปัจจัยหลักที่ทำให้เราเครียดเกินไปและวางแผนจัดการเวลาได้ไม่ดีพอ
ดังนั้น เมื่อมีสิ่งสำคัญที่ต้องทำ เราควรดูความยากง่ายของงาน แล้วกำหนดตารางเวลาให้ชัดเจนว่าจะใช้เวลาในการทำนานแค่ไหน ลงมือทำอะไรบ้างในแต่วัน เพื่อที่จะไม่ต้องวิตกกับงานจนเกินเหตุ และมีเวลาจัดการชีวิตมากขึ้น
การคิดให้น้อยลงคือ การบริหารความคิดให้พอเหมาะพอดีสำหรับการใช้ชีวิต ไม่จำเป็นต้องเคร่งเครียดเกินไป แต่ก็ไม่ควรหละหลวม แค่เราเลิกคิดมากเกินไปก็เท่ากับมีเวลาทำอย่างอื่นในชีวิต เช่น งานอื่นๆ หรือดูแลสุขภาพ เสมือนได้หันกลับมารักตัวเองมากขึ้นแล้ว
แปลและเรียบเรียงจาก: