ความสำคัญของกิจวัตร

382
คำว่า Routine (งานที่ทำซ้ำๆเป็นกิจวัตร) แค่ฟังก็น่าเบื่อสุดๆ แล้วใช่ไหมครับ ในชีวิตคุณคงเคยเจอคนประเภทที่ตั้งเป้าหมายอะไรก็ทำสำเร็จตลอดเวลา คุณเคยสงสัยไหมครับว่าความลับของพวกเขาคืออะไร?
 
คริสตี้ มิมส์ ได้เขียนเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้อย่างน่าสนใจมาก โดยคริสตี้บอกว่า เธอได้สังเกตพฤติกรรมของนักกีฬาอาชีพแล้วเห็นอะไรบางอย่างที่น่าสนใจ
 
นักกีฬาอาชีพทำอะไรนอกจากตอนที่เราเห็นพวกเขาลงแข่งขัน? พวกเขาซ้อมอย่างหนักครับ พวกเขาเข้มงวด พวกเขากินอาหารเหมือนเดิมแทบทุกวัน ไม่ว่าจะเป็นกีฬาอะไรก็แล้วแต่ ถ้าคุณได้ศึกษาเกี่ยวกับพวกเขาตอนเตรียมตัวก่อนแข่งจะพบว่าสิ่งที่พวกเขาทำจะไม่ได้แตกต่างกันมากนัก ทั้งหมดทั้งปวงนี้สรุปมาได้เป็นคำเดียวเลยครับว่า “Routine”
 
นักกีฬาน่าจะเป็นกลุ่มคนที่มีการใช้ชีวิตเป็น Routine ที่สุดแล้ว โดยเฉพาะถ้าอยู่ในฤดูกาลแข่งขัน การที่พวกเขาใช้ชีวิตเป็น Routine นี้เองทำให้พวกเขามีสมาธิ มีความพร้อมทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจสำหรับการแข่งขัน พวกเขาเชื่อมั่นใน Routine ครับ
 
บ็อบ โบว์แมน โค้ชของสุดยอดนักว่ายน้ำเจ้าของเหรียญทองโอลิมปิก 18 เหรียญอย่าง ไมเคิล เฟ็ลปส์ บอกไว้ว่า “มุ่งไปที่กระบวนการ ไม่ใช่ผลลัพธ์” ถ้าคุณเชื่อในพลังของการทำสิ่งที่คุณทำอยู่ทุกวัน ตอนลงสนามทุกอย่างจะเป็นไปอย่างอัตโนมัติ อย่างในกรณีของ ไมเคิล เฟ็ลปส์ เขาซ้อม 365 วันต่อปี ติดต่อกัน 6 ปี เพื่อเตรียมการสำหรับโอลิมปิคปี 2004
 
อีกหนึ่ง Routine ที่น่าสนใจมากของ ไมเคิล เฟ็ลปส์ คือการซักซ้อมในจินตนาการ (Mental Rehearsal) หรือการจิตนการภาพความสำเร็จในหัวก่อนที่จะลงสนามจริง
 
บ็อบ โบว์แมน บอกว่า ไมเคิล เฟ็ลปส์ จะทำการซักซ้อมในจินตนาการสองชั่วโมงทุกวันในสระ เขาจะเห็นตัวเองคว้าชัยชนะมาได้ เขาจะได้กลิ่นอากาศรอบตัว สัมผัสได้ถึงการเคลื่อนไหวของน้ำ ได้ยินเสียง และมองเห็นเวลาที่เขาจะทำได้จากนาฬิกาจับเวลาริมสระ
 
โค้ชบ็อบยังบอกต่ออีกว่า สมองของคนเราไม่สามารถแบ่งแยกระหว่างจินตนาการที่ชัดเจนมากๆ (Vivid Imagination) กับความจริงได้ (Reality) ดังนั้น หากเราสามารถสร้างจินตนาการในหัวที่แข็งแรงทรงพลังมากๆ ได้ สมองเราจะหาทางทำให้มันเกิดขึ้นจริง
 
ทำไม Routine ถึงช่วยเราได้? เพราะในชีวิตจริงนั้นมันเป็นเรื่องที่ยากมากที่จะวางแผนอะไรบางอย่างแล้วลงมือทำจริงๆ ลองคิดดูว่า แค่การวางแผนอะไรธรรมดาๆ สักอย่างนึง เราต้องใช้พลังงานสมองไปเยอะ พอใชีพลังงานสมองไปเยอะ เราก็เหลือพลังงานในการลงมือทำน้อยลง
 
แต่ถ้าคุณไม่ต้องวางแผนอะไรมาก พลังงานของคุณจะถูกนำมาใช้ในการลงมือทำทั้งหมด
 
ฟังดูแล้วยังทะแม่งๆ ชอบกลใช่ไหมครับ
 
งั้นผมลองเล่าตัวอย่างของผมให้ฟัง ช่วงที่ผมเขียนหนังสือเล่มแรก มีช่วงเวลาที่ผมสับสน เขียนไม่ได้เลย ท้อแท้สุดๆ จนเกือบจะโทรไปบอก บก. แล้วว่าจะไม่ออกหนังสือแล้ว
 
จนกระทั่งวันนึงผมก็ตัดสินใจสร้าง Routine ให้กับตัวเองขึ้นมา ในคืนช่วงสุดสัปดาห์ผมต้องเขียนอะไรก็ได้ออกมาให้ได้ 1 บท พอคิดได้แค่นั้น ความกลัว ความสับสน ก็เริ่มหายไป
ผมเริ่มไม่คิดถึงหนังสือทั้งเล่ม แค่คิดว่าสัปดาห์นี้ต้องเขียนหนังสือให้ได้แค่บทเดียวก็พอแล้ว จะดีไม่ดียังไงขอให้เขียนจบบทพอ หน้าที่ของผมมีแค่นั้นจริงๆ เขียนอะไรก็ได้สัปดาห์ละบท
 
ในที่สุดหนังสือผมก็เสร็จ และผมก็ใช้วิธีเดียวกันนี้กับหนังสือเล่ม 2,3,4 และเล่มที่ 5 ที่กำลังจะออกนี้เช่นเดียวกัน
 
นี่เป็นเพียงตัวอย่างเล็กๆ ครับ แต่คุณก็สามารถเอาไปปรับใช้ได้เช่นกัน
 
แค่เขียนว่าเป้าหมายของคุณคืออะไร เสร็จแล้วค่อยๆ กระจายมันออกมาเป็นงานที่ต้องทำเพื่อให้เป้าหมายนั้นสำเร็จ งานที่ว่านี้ต้องเป็นรูปธรรมที่ทำได้โดยไม่ต้องตีความอะไรมาก เช่น นั่งสมาธิวันละ 1 ชั่วโมง อ่านหนังสือวันละ 1 ชั่วโมง ฯลฯ เสร็จแล้วใส่ลงไปในปฏิทินของคุณเลยครับ เมื่อถึงเวลาที่ต้องทำก็ทำไปเลยไม่ต้องคิดอะไรมาก
 
เมื่อคุณใช้ชีวิตอย่างมี Routine แล้ว สมองของคุณจะได้มีพื้นที่เหลือในการเอาไปคิดสิ่งที่เราเรียกว่า Critical Thinking (การคิดเชิงวิพากษ์ ) ที่ยากและใช้พลังงานเยอะ ๆ
 
เหมือนที่หลายคนบอกว่านี่อาจจะเป็นสาเหตุจริงๆที่ทำให้ มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก แต่งตัวเหมือนกันทุกวันก็ได้ครับ
 
 
Advertisements